ค้นหา

Clipping News : คนอัมพวายอมรับโครงการชูชัยฯแล้

จาก คมชัดลึกวันที่ 13-10-2555

ชื่นมื่น!'ชูชัย'ปรับแบบตามมติคนอัมพวา  ชาวอัมพวาพร้อมใจใส่เสื้อสีม่วงเข้าร่วมประชาพิจารณ์ "ชูชัยบุรีศรีอัมพวา" เห็นด้วย ปรับปรุงตัวอาคาร-หลังคา ให้สอดคล้องกับเรือนไม้เดิม ลดรายละเอียดยุโรป เพิ่มความเป็นไทย ด้าน "ชูชัย" ยันทำตามมติชุมชน

         

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ต.ค. 55  กรณีข่าวการรื้อถอนเรือนแถวไม้จำนวน 12 ห้อง เพื่อก่อสร้างโรงแรมหรูระดับห้าดาว ริมคลองอัมพวา ในชื่อโครงการ "ชูชัยบุรี ศรีอัมพวา" ของนักธุรกิจค้าเพชรระดับพันล้าน ชูชัย ชัยฤทธิเลิศ ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จนเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวนำโดยกลุ่มนักอนุรักษ์ จนเกิดกระแสต่อต้านการรื้อถอนเรือนแถวริมน้ำคลองอัมพวา เพราะเกรงจะกระทบ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน

ล่าสุด ที่ห้องประชุมสาธารณสุขเทศบาล ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม รศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนนท์ พร้อมด้วย รศ.ดร.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ ผู้ที่ริเริ่มฟื้นฟูและส่งตลาดน้ำอัมพวาเข้าประกวดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จนได้รับรางวัลชมเชยจากยูเนสโก้ในปี 2008 ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีประชาชนใน ต.อัมพวา และใกล้เคียงพร้อมใจกันใส่เสื้อสีม่วง ด้านหน้าเขียนข้อความว่า "คนอัมพวา" และด้านหลังเขียนว่าคน "อัมพวาแท้ๆ" มาร่วมแสดงความเห็นประมาณ 300 คน โดยมี ศจ.เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ ประธานคณะกรรมธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา ร่วมสังเกตการณ์ด้วย

 นายชูชัย ชัยฤทธิเลิศ เจ้าของโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา ได้ชี้แจงแนวทางการปรับปรุงโครงการ โดยห้องแถวเรือนไม้ชายคลองอัมพวาทั้ง 12 ห้อง ที่เป็นปัญหาจะไม่รื้อ แต่จะปรับปรุงให้เหมือนเดิม ส่วนรูปแบบของอาคาร ได้นำเสนอ 6 รูปแบบให้คนในท้องถิ่นเลือก ประกอบด้วย แบบที่ 1. เป็นอาคารแบบเดิมแต่จะเพิ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้าเพื่อลดความเด่นของอาคารให้น้อยลง , แบบที่ 2. อาคารเดิมเพิ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้าและปรับสีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในชุมชน , แบบที่ 3. อาคารเดิมเพิ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้าเปลี่ยนรูปแบบหลังคา , ปรับสีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในชุมชนและปรับรูปแบบความเป็นยุโรปให้น้อยลง , แบบที่ 4. ปรับอาคารเป็นแบบทรงไทยโดยใช้สีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในชุมชนและเพิ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้า , แบบที่ 5. ปรับแบบตัวอาคาร , ทรงหลังคาและปรับสีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในชุมชนและลดรายละเอียดความเป็นยุโรปให้น้อยลง โดยมีเพิ่มต้นไม้ใหญ่ด้านหน้า และแบบที่ 6. คล้ายกับแบบที่ 5 แต่ทุบอาคารให้เหลือ 3 ชั้น โดยพื้นที่ใช้สอยนายชูชัยชี้แจงว่าชั้น 1 จะเป็นร้านค้าชุมชน , ชั้นที่ 2 เปิดเป็นร้านอาหารโดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และจะรับประชาชนในพื้นที่เข้าทำงาน , ชั้นที่ 3 จัดเป็นห้องสัมมนาความจุ 200 คน โดยสามารถรองรับการประชุมระดับนานาชาติได้ และชั้นที่ 4 ใช้เป็นห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ระดับสากลรองรับการประชุมขนาดใหญ่เพื่อต้อนรับแขกสำคัญๆ ส่วนเทวสถานที่มีศิวลึง จะปรับปรุงให้อยู่ด้านในลานศรัทธาโดยมีต้นไม้บังไว้จะไม่ให้มาอยู่ด้านหน้า

 จากนั้นมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม แสดงความคิดเห็นซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงแรมแบบที่ 5 คือปรับแบบตัวอาคาร , ทรงหลังคาและปรับสีให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในชุมชน และลดรายละเอียดความเป็นยุโรปให้น้อยลง ภายหลังการประชุมประชาชนได้นำดอกกุหลาบมามอบให้นายชูชัย และนำเสื้อยืดสีม่วง มอบให้นายชูชัย ใส่เพื่อแสดงว่านายชูชัยเป็นคนอัมพวา

 เรืออากาศตรีมีชัย ศรีเจริญ เลขานุการชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลอัมพวา กล่าวว่า ที่รวมตัวในวันนี้ก็เพื่อจะมาแสดงความคิดเห็นว่าคนอัมพวาก็มีความคิดที่จะเป็นตัวของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาชี้นำ เพราะคนอัมพวามีความรู้ความสามารถ จุดยืนของคนอัมพวา คือ ตลาดน้ำที่มีขึ้นมาทุกคนก็อยากจะเป็นตัวของตัวเอง โดยการค้าขายหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะมีบุคคลอื่นเข้ามาเป็นส่วนร่วม แต่การเข้ามาไม่ใช่มาจัดการหรือเป็นเจ้าของซะเองมองแล้วไม่ค่อยถูกต้อง

  "สำหรับโรงแรมชูชัยผมมองในด้านบวก เพราะว่าเมื่อมีโรมแรมเกิดขึ้นคนก็จะมีงานทำดูมีสีสันน่าเที่ยวชม มีสาธารณูปโภคที่ครบครัน ส่วนคนที่คัดค้านเป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่ทำอะไรโดยไม่เห็นใจคนอัมพวา หรืออาจจะมีผลประโยชน์หรือทำอะไรเพื่อหวังผล และการมีโรงแรมเกิดขึ้น ถ้าเป็นในกรณีที่ดีทำให้อัมพวามีรายได้ก็พอจะรับได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเป็นคนอัมพวาลงทุนเองจะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนในสิ่งปลูกสร้างที่มีมากขึ้นจนเบียดบังทัศนียภาพ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้คงไว้ในสภาพเดิมๆ ซึ่งหาดูได้ยาก ซึ่งบ้านเรือนต่างๆ มองดูแล้วเป็นภาพที่น่ารัก"

 รศ.ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ตนมีเวลาในการเตรียมมากขึ้น ถือเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความเข้มแข็งของชุมชนเอง โดยพยายามให้คนอัมพวาเข้ามาแสดงความคิดเห็นในการดูแลชุมชนของตนเอง ในวันนี้ให้นายชูชัยมาเสนอการปรับรูปแบบต่างๆ ที่เป็นทางเลือก ซึ่งชุมชนก็เลือกแบบที่ชอบที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามในริมคลองอัมพวายังมีกรณีการก่อสร้างอาคารสูงเช่นกัน ตนจึงเสนอว่าทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะร่างเทศบัญญัติควบคุมอาคารมานำเสนอให้คนในท้องถิ่นได้พิจารณา

นายชูชัย เจ้าของโครงการ กล่าวว่า พร้อมทำทุกอย่างที่คนในท้องถิ่นต้องการ โดยจะนำแบบที่ประชาชนเลือกคือแบบที่ 5 ไปปรับปรุงการสร้างโครงการของตนเพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข 

            "รู้สึกดีใจที่ชาวอัมพวาอ้าแขนรับผมด้วยความอบอุ่น ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะนำรายได้กลับมาสู่ชาวอัมพวา จะได้อยู่ดีมีสุข และจะมีเงินส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สังคมอย่างถาวร"